วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2551

การอบตัวด้วยสมุนไพร

การอบสมุนไพร
การอบสมุนไพร คือ การอบตัวด้วยไอน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพร เป็นวิธีการบำบัดอย่างหนึ่งซึ่งเริ่มต้นจากประสบการณ์การนั่งกระโจมของผู้หญิงหลังคลอด โดยใช้ผ้าทำเป็นกระโจม หรือนั่งในสุ่มไก่ที่ปิดคลุมไว้มิดชิดโดยมีหม้อต้มสมุนไพรที่เดือดพวยพุงไอน้ำสมุนไพรออกมาเพื่อให้ผิวหนังได้สัมผัสกับไอน้ำสมุนไพร และยังสามารถสูดดมไอน้ำสมุน
ไพรได้ด้วย ซึ่งช่วยทำให้ระบบทางเดินหายใจและระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทำให้สดชื่นผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล จึงเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน


การอบตัว มี 2 แบบ คือ
1. การอบแห้ง หรือเรียกทับศัพท์ว่า " เซาว์น่า " ซึ่งคล้ายคลึงกับการอยู่ไฟของหญิงหลังคลอดของไทย การอบแห้งเป็นการอบโดยอาศัยความร้อนที่ได้จากถ่านหินบนเตาร้อน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ
2. การอบเปียก เป็นวิธีการอบที่คนไทยเรานิยม และมีการแพร่หลายมากในปัจจุบัน โดยมีการพัฒนามาจากการอบแบบเข้ากระโจมมาเป็นห้องอบไอน้ำสมุนไพรที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งสามารถให้บริการได้คราวละหลาย ๆ คน โดยใช้หม้อต้มสมุนไพรที่มีท่อส่งไอน้ำสมุนไพรเข้าไปภายในห้องอบ

การอบตัวด้วยความร้อนนั้น นับเป็นวิธีการที่ทางแพทย์แผนปัจจุบันให้การยอมรับว่าสามารถช่วยให้การไหลเวียนของโลหิต น้ำเหลืองบริเวณผิวหนังดีขึ้น ส่วนไอน้ำของสมุนไพรจะมีสรรพคุณตามคุณสมบัติของสมุนไพรนั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น

สมุนไพรที่ใช้ในการอบ ส่วนมากจะขึ้นอยู่กับความสะดวกในการหาในท้องถิ่น การนำเอาสมุนไพรสดเพื่อนำมาใช้ในการอบ ไม่จำกัดชนิดอาจเพิ่มหรือลดชนิดของสมุนไพรตามความต้องการในการใช้ประโยชน์ และความยากง่ายในการจัดหา จะเลือกใช้สมุนไพรแห้งก็ได้ โดยยึดหลักสมุนไพรที่ใช้ในการอบ 4 กลุ่ม ดังนี้
1. สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม เช่น ไพล ขมิ้น ผิวมะกรูด ในสมุนไพรเหล่านี้จะมีสาระสำคัญ คือ นำมันหอมระเหย ที่มีสรรพคุณและประโยชน์ในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ คือ อาการคัดจมูก ปวดเมื่อย เวียนศีรษะ และโรคผิวหนังบางชนิด ควรทำการเปลี่ยนสมุนไพรทุกวัน มิฉะนั้นสมุนไพรอาจเน่าทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้
2. สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม ใบและฝักส้มป่อย ในสมุนไพรกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก บำรุงผิวพรรณ เพิ่มความต้านทานโรคให้แก่ผิวหนัง
3. สมุนไพรที่เป็นสารประกอบที่ระเหิดได้ เมื่อผ่านความร้อนแล้วจะมีกลิ่นหอม เช่น การบูร พิมเสน ช่วยรักษาอาการหวัด คัดจมูก
4. สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรคและอาการ เช่น สมุนไพรแก้ปวด
ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง ไพล เถาเอ็นอ่อน เป็นต้น


โรคหรืออาการที่สามารถบำบัดรักษาด้วยการอบสมุนไพร
1. โรคภูมิแพ้ที่ไม่รุนแรง
2. เป็นหวัด น้ำมูกไหล แต่ไม่มีการแห้งตันของน้ำมูก
3. อัมพฤกษ์ อัมพาต ในระยะเริ่มแรก
4. ปวดเมื่อยตามร่างกายทั่วๆไป หรือโรคที่ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วย เฉพาะที่ มีการเจ็บป่วยหลายตำแหน่ง
5. เป็นโรคหอบหืด ในระยที่ไม่มีอาการรุนแรง
6. การอบตัวของมารดาหลังคลอดบุตร เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพ
7. โรค หรือ อาการบางอย่าง เช่น การยอก โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ อาจต้องใช้การอบสมุนไพรร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น ประคบสมุนไพร นวดบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม


ประโยชน์จากการอบตัวด้วยสมุนไพร
1. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย
2. ช่วยทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
3. ช่วยให้ร่างกายขับเหงื่อออกมากขึ้น และขยายรูขุมขน
4. ช่วยให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้น ช่วยละลายเสมหะทำให้ขับออกง่าย
5. ช่วยลดการอักเสบและบวมที่เยื่อบุทางเดินหายใจตอนบน
6. ช่วยลดการระคายเคืองในลำคอ
7. ช่วยให้สบายตัว ลดอาการปวดศีรษะ


ข้อห้ามสำหรับการอบสมุนไพร
1. ขณะที่มีไข้สูง มากกว่า 3 8 องศาเซลเซียส เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
2. มี ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะหน้ามืดห้ามอบสมุนไพร
3. มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืด ในระยะรุนแรง
4. สตรีขณะมีประจำเดือน โดยเฉพาะถ้ามีไข้และอาการปวดศีรษะด้วย
5. มีการอักเสบจากบาดแผลต่าง ๆ
6. ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือผู้ที่รับประทานอาหารอิ่ม ยังไม่ครบ 1 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น: